ท้องถิ่นขนาดเล็กที่มีความหลากหลาย และคาดเดายาก

Last updated: 25 ก.ค. 2567  |  1282 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ท้องถิ่นขนาดเล็กที่มีความหลากหลาย และคาดเดายาก

ท้องถิ่นขนาดเล็กที่มีความหลากหลาย และคาดเดายาก


               ผศ.วสันต์ เหลืองประภัสร์ ผู้อำนวยการสำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การเลือกตั้ง อบต. ในครั้งนี้น่าสนใจ และคาดเดาได้ยากที่สุด ประการแรก เพราะ การปรับเปลี่ยนจำนวน ส.อบต. เนื่องจาก อบต. นั้น จะแตกต่างจากท้องถิ่นประเภทอื่น ที่ใช้จำนวนประชากรเป็นเกณฑ์ในการกำหนดสมาชิก แต่ อบต. ใช้จำนวนหมู่บ้านเป็นเกณฑ์ และครั้งนี้จะทำให้มีจำนวนสมาชิกหายไปครึ่งหนึ่ง และจะส่งผลต่อการแข่งขันที่สูงขึ้น

                ประการต่อมา อบต. เป็นท้องถิ่นที่มีความหลากหลายมากที่สุด ทั้งในแง่ของ ขนาดพื้นที่ จำนวนประชากร และฐานะรายได้ รวมถึงลักษณะของสภาวะทางสังคม ผศ.วสันต์ อธิบายว่า ในปัจจุบันยังมี อบต. ที่เป็นเขตป่าเขาอยู่ เช่น อบต.คลองน้ำไหล จ.กำแพงเพชร ซึ่งมีเนื้อที่ใกล้เคียงกับจังหวัดสมุทรสงครามทั้งจังหวัด มีหมู่บ้านมากถึง 28 หมู่บ้าน ในขณะที่ด้านรายได้ ข้อมูลที่จังหวัดสมุทรปราการ มีความแตกต่างกันมาก เช่น อบต.บางพลีใหญ่ มีรายได้รวมเงินอุดหนุนมากถึง 638 ล้านบาท ในขณะที่ อบต.บางกระสอบ มีรายได้ 28 ล้านเท่านั้น

              ความแตกต่างของ อบต. แต่ละแห่งนี้เอง จึงทำให้การคาดเดาทิศทางการเลือกตั้งเป็นไปได้ลำบาก เพราะการลงคะแนนเพื่อเลือกผู้บริหารแต่ละพื้นที่ย่อมแปรผันไปตามสภาวะต่างๆ จึงไม่สามารถกำหนดได้ว่าพรรคใดจะชนะ หรือกลุ่มการเมืองใดจะได้รับเลือก ขึ้นอยู่กับความต้องการของประชาชนในพื้นที่นั้น ว่าสิ่งใดสำคัญต่อการใช้ชีวิต

                Fist Time Voter ตัวแปรสำคัญเลือกตั้ง อบต.

ผศ.วสันต์ กล่าวว่า การที่ไม่ได้เลือกตั้งมายาวนานอย่างน้อย 8 ปี จะทำให้คนที่มีสิทธิเลือกตั้งหน้าใหม่เพิ่มขึ้น อย่างน้อยจะมีคน 8 รุ่น ที่ต้องเข้าคูหาเลือกตั้ง อบต. เป็นครั้งแรก ซึ่งอาจจะไม่ใช่คนรุ่นใหม่เสียทีเดียว บางคนอาจจะเคยเลือกตั้งในระดับชาติ แต่ในระดับอบต. เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของเขา สิ่งที่น่าสนใจคือคนเหล่านี้ ‘เขาจะเลือกใคร’ และเรื่องที่น่ากังวล คือ สถิติการไปใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่น 2 ครั้งล่าสุด ถือว่ามีจำนวนไม่มาก การเลือกตั้ง อบจ. 62% การเลือกตั้งเทศบาล 66.9% ซึ่งน้อยกว่าการเลือกตั้งระดับประเทศ ที่มี 74% จึงสามารถคาดเดาได้ว่าการเลือกตั้ง อบต.ในครั้งนี้ ไม่น่าจะเกิน 70% และส่วนที่หายไปจำนวนมากก็คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ แต่ด้วยข้อจำกัดที่ไม่สามารถกลับไปได้ ด้วยภาระการศึกษา และการทำงาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้

                นอกจากนั้น ผศ.วสันต์ กล่าวว่า สิ่งที่ควรให้ความสนใจอีกประเด็นหนึ่ง คือ ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งนายก อบต. และ ส.อบต. ว่าในครั้งนี้มีกลุ่มคนที่เป็นคนรุ่นใหม่ หรือผู้สมัครหน้าใหม่คนใดเข้ามาสู่แวดวงการเมืองท้องถิ่นบ้าน และเหตุผลของการตัดสินใจของแต่ละคนเป็นอย่างไร สิ่งนี้จะกลายเป็นตัวเลือกสำคัญที่จะทำให้บรรยากาศของการเมืองท้องถิ่นเปลี่ยนแปลงไปได้




โจทย์ใหญ่ คือ การสร้างท้องถิ่นให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง

                ผศ.วสันต์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสังคมมักมีทัศนคติว่าท้องถิ่นนั้นไม่ได้มีผลงานเป็นรูปธรรม และไม่สามารถแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้จริง ซึ่งต้องยอมรับว่าในบางพื้นที่ก็ยังมีอุปสรรคอยู่มาก แต่ภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณ การกระจายอำนาจ และกฎระเบียบที่มาผูกมัดการทำงานของท้องถิ่น จะทำอย่างไรให้ท้องถิ่นเข้มแข็งขึ้น และมีนัยยะสำคัญต่อชีวิตผู้คนได้จริง ๆ

                “โจทย์ใหญ่ในอนาคต คือ จะทำอย่างไรให้ท้องถิ่นเติบโตและเข้มแข็ง และมีนัยยะสำคัญต่อชีวิตผู้คน ให้ อบต. เป็นกระดูกสันหลังในการดูดซับปัญหา หลายที่ทำได้ดีแล้ว แต่คิดว่าต้องมีมากกว่านี้”

                การเลือกตั้ง อบต. ในครั้งนี้ ต้องทำให้สังคมเห็นว่า อบต. เป็นตัวการสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่น จากการลงพื้นที่ พบว่า อบต.สามารถแก้ปัญหาได้ดีอย่างมาก ในเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ที่โดดเด่นมากที่สุด คือ การดูแลเด็กเล็ก และผู้สูงอายุ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ ที่ดูแลโดย อบต. สามารถลดภาระค่าครองชีพในครัวเรือนได้มากกว่า 100,000 บาทต่อครัวเรือน แต่สิ่งสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้ทุกที่มีมาตรฐาน และศักยภาพเท่าเทียมกัน

ที่มา https://www.facebook.com/theactive.net/

อ่านต่อ https://theactive.net/news/20211015-3/

และสามารถรับชมรายการย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/theactive.net/videos/593414201852225

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้