Last updated: 25 ก.ค. 2567 | 14077 จำนวนผู้เข้าชม |
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย
ทุกวันนี้การพูดถึงประชาธิปไตยท้องถิ่นได้กลายเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายต่างจับตามอง เพราะนับตั้งแต่รัฐบาลได้มีความเคลื่อนไหวเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ผ่านมา ทำให้บรรยากาศสำหรับการพูดเรื่องประชาธิปไตยท้องถิ่นและการเลือกตั้งท้องถิ่นในเวลานี้ถือว่าน่าสนใจอย่างยิ่งไม่แพ้การเมืองระดับชาติเลย
เมื่อการปกครองท้องถิ่นเป็นระบบการเมือง จึงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญในระบอบประชาธิปไตยท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีอิสระและความสามารถในการปกครองตนเองได้ หรืออาจกล่าวได้ว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นเป็นกลไกสำคัญอันจะนำไปสู่การพัฒนาการเมืองการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยในระดับประเทศ นั่นเอง
ดังนั้นวันนี้จะขอพาผู้อ่านทุกท่านไปทำความรู้จักข้อมูลทั่วไปขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทยในเบื้องต้นกันก่อน หากเรายึดตามการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามหลักการกระจาย อำนาจการปกครอง (Decentralization) ได้แบ่งการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นออกเป็น 2 รูปแบบใหญ่ๆ นั่นคือ
1. การปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป เป็นรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
2. การปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เป็นรูปแบบการปกครองที่ไม่เหมือนรูปแบบทั่วไป จะมีรูปแบบเฉพาะ และมักเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ ซึ่งปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ 2 แห่ง ได้แก กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา
จากข้อมูลสถิติจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย ของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่า ประเทศไทยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมกันทั้งสิ้น 7,852 แห่ง โดยจำแนกออกเป็น องค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 แห่ง เทศบาล 2,445 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 5,329 แห่ง (ข้อมูล ณ พฤศจิกายน 2562)
22 ก.พ. 2564
29 ต.ค. 2563
17 ก.พ. 2564