เลือกตั้ง อบต.หน้าใหม่ล้มแชมป์เก่า การบ้าน 'กกต.' สกรีนคนให้โปร่งใส
ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาและนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชาชนทั่วประเทศต่างให้ความสนใจ ใจจดใจจ่อเข้าคูหาเพื่อกาคนที่ใช่เข้ามาบริหารท้องถิ่นของตัวเอง หลังว่างเว้นจากการเลือกตั้งมากว่า 8 ปีแล้ว โดย อบต.มีทั้งหมด 5,300 แห่ง สมาชิก อบต. 56,641 คน
จะเห็นได้ว่าการเลือกตั้ง อบต.แต่ละครั้งมักมีสีสันต่างๆ เกิดขึ้น รวมถึงมีหลายคนที่กลับบ้านในต่างจังหวัด ยอมเหนื่อยนั่งรถเพื่อมาเลือกตั้งโดยเฉพาะ จึงทำให้การเลือกตั้ง อบต.มีความสำคัญต่อคนในพื้นที่มาก
สำหรับจำนวนผู้มาใช้สิทธิและคะแนนอย่างเป็นทางการต้องรอตัวเลขจากคณะกรรมการการเลือก (กกต.) แถลงอีกครั้ง ขณะที่เรื่องร้องเรียนการเลือกตั้ง อบต. ล่าสุดอยู่ที่ 268 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นเรื่องซื้อเสียงมากที่สุด ส่วนฝั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีรายงานว่าตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.-28 พ.ย. ทางตำรวจได้รับแจ้ง 72 เหตุการณ์ ทั้งที่เป็นคดีและไม่ได้เป็นคดี ส่วนที่เป็นคดี พบมีการซื้อเสียง 7 คดี ทำลายป้ายหาเสียง 18 คดี ฉีกบัตร 27 คดี ในจำนวนนั้นมีทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ
อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งนี้สามารถวิเคราะห์ได้หลายประเด็น โดย รศ.ดร.อรทัย ก๊กผล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าและรักษาการผู้อำนวยการวิทยาลัยการพัฒนาการปกครองท้องถิ่น ให้ความเห็นในเรื่องการเลือกตั้ง อบต.ครั้งนี้ว่า จากตัวเลขผู้มาใช้สิทธิแต่ละจังหวัดอย่างไม่เป็นทางการถือว่าน่าพอใจ บางพื้นที่มีผู้มาใช้สิทธิ์ถึง 60-80% ซึ่งใกล้เคียงกับที่ กกต.ได้ประมาณการ ความคึกคักเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันที่ค่อนข้างดุเดือดเข้มข้น บางพื้นที่อาจจะไม่มีผู้สมัครจำนวนมาก แต่เป็นผู้สมัครที่มีคะแนนใกล้กัน โดยเฉพาะพิษณุโลกที่พบว่ามีผู้สมัคร 2 คนคะแนนเท่ากัน ทำให้ต้องมีการจับฉลากเข้ารับตำแหน่งตามกฎหมาย หรือบางพื้นที่คะแนนห่างกันเพียงแค่ 4 คะแนน โดยรวมความสนใจที่ประชาชนไปใช้สิทธิ์ดูน่าพึงพอใจ ขณะเดียวกรณีการซื้อเสียงซึ่งคงมีอยู่
รศ.ดร.อรทัย ระบุว่า ข้อสังเกตหนึ่งที่เป็นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เลือกตั้ง อบจ. เทศบาลถึง อบต. คือผู้สมัครที่เป็นผู้บริหารท้องถิ่นเดิมมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างสูง มีคนหน้าใหม่ที่ล้มแชมป์นายกฯ เดิมได้ ซึ่งน่าจะเป็นกระแสที่ดีที่เราจะเห็นคนใหม่ๆ เข้ามาในแวดวงของการกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่น ทั้งนี้ ปัจจัยแรกคือเรื่องเวลา ประชาชนอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงนายกที่ดำรงตำแหน่งอยู่มา 8 ปีแล้ว ประชาชนอาจจะรู้สึกว่าไม่เห็นมีอะไรเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน หรือประชาชนตัดสินใจจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเฉพาะหน้า เช่น บริหารจัดการในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาในยุคโควิด-19 อาจจะทำให้เขารู้สึกยังไม่พึงพอใจ ปัจจัยที่ 2 แต่ละพื้นที่มีตัวแปรที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งต้องวิเคราะห์แต่ละพื้นที่ที่มีความเชื่อมโยงกัน เช่น ผู้บริหารท้องถิ่นอาจมีความสัมพันธ์กับนักการเมืองระดับชาติ
“ปัจจัยที่คนเลือกสมาชิก หรือผู้บริหารท้องถิ่น ค่อนข้างน้อยที่อิงเรื่องอุดมการณ์พรรคการเมือง หรือการเมืองระดับชาติ ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญเรื่องพื้นที่ เขารู้จักคนนี้หรือเปล่า เป็นเครือญาติกันหรือเปล่า มีควาสัมพันธ์อะไรกันมาไหม เคยมางานศพ เคยมาดูแลเรื่องต่างๆ หรือไม่ ซึ่งเป็นตัวแปรใหญ่ มากกว่าอุดมการณ์ ฉะนั้น เรื่องนโยบายว่าจะทำอะไรในอนาคตมันไม่ได้ถ้วนหน้า ยังมีบางกลุ่มเท่านั้นที่สนใจคนนี้เป็นนายก อบต.แล้วจะพัฒนาเรื่องอะไร นอกจากนี้คนจะรู้ว่าเลือกตั้งวันไหนแค่ 1-2 เดือน ทำให้คนมีเวลาเตรียมตัวในการนำเสนอนโยบายนั้นน้อยมาก ส่วนมากก็เคาะประตูบ้าน ยื่นบัตรว่าเบอร์อะไร ไม่มีเวลาแลกเปลี่ยนเวทีนโยบายเหมือน ส.ส.ที่มีปัจจัยภาพใหญ่เยอะ”
ในส่วนของผู้สมัครกลุ่มคณะก้าวหน้าที่ได้ที่นั่ง อบต. 38 คน จากจำนวนที่ส่งผู้สมัคร 196 แห่งนั้น อาจารย์อรทัย มองว่า ผู้สมัครคณะก้าวหน้าอาจจะเป็นคนหน้าใหม่ที่ไม่ได้ลงมาเดินการเมืองเลย คนเพิ่งเคยเห็นหน้า ความรู้ของประชาชนก็อาจจะดูไกล เพราะประชาชนต้องการคนใกล้ๆ บ้าน คนรู้จัก ฝนตก น้ำท่วม ไฟฟ้า ทางเดิน ซึ่งต้องสามารถบอกได้
ส่วนเรื่องร้องเรียนในการเลือกตั้ง อบต.ที่เกิดขึ้นกว่าร้อยเรื่องในขณะนี้นั้น รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า เรื่องร้องเรียนในการเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เป็นเรื่องที่ กกต.ต้องชี้ชัดว่าเรื่องร้องเรียนมีมูลหรือไม่ สอบสวนจนกว่าจะได้ความมั่นใจ มันถึงจะมีความสำคัญ จึงฝากให้ กกต.สอบสวนประเด็นร้องเรียนให้ชัดเจน อีกทั้งด้วยความที่มีเคสแบบนี้จำนวนมาก เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้มี อบต.กว่า 5 พันแห่ง จึงอยากให้ กกต.วางระบบกระจายการตัดสินใจ มิฉะนั้นทุกเคสจะขึ้นมาที่ส่วนกลางหมด อาจทำให้เกิดการผูกขาดในการตัดสินใจ
"นอกจากนี้ในเรื่องความรุนแรงในการเลือกตั้งยังคงมีอยู่ มีข่าวว่ามีการซื้อเสียงหัวละ 1-3 พันบาท ซึ่งเราได้ยินเรื่องนี้มาตลอดชีวิตในการอยู่ในการเมืองไทย เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา บางพื้นที่เป็นเรื่องของศักดิ์ศรีแพ้-ชนะอาจจะมีจริง คนก็รู้สึกว่าแพ้ไม่ได้ ดังนั้น เรื่องการซื้อเสียงจึงไม่ใช่เรื่องการทุจริตอย่างเดียว"
อย่างไรก็ตาม รักษาการผู้อำนวยการวิทยาลัยการพัฒนาการปกครองท้องถิ่น เสนอแนะว่า หลังการเลือกตั้งปัจจัยสำคัญคือระบบตรวจสอบซึ่ง กกต.ก็เป็นด่านหนึ่งที่จะต้องสกรีนคนให้สุจริตโปร่งใสที่สุด แต่อาจจะไม่หมดทีเดียว ฉะนั้นระบบตรวจสอบองค์กรปกครองสวนท้องถิ่นมีมากมาย ทั้งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เห็นกันบ่อยๆ คือการยื่นบัญชีทรัพย์สิน ปัญหาคือมีหลาย อบต. ป.ป.ช.จะตรวจทันหรือไม่ กว่าเจ้าหน้าที่จะตรวจซอง นายก อบต.อาจหมดวาระแล้ว ซึ่งเคยเสนอให้สมาชิกสภาและนายกอบต. เมื่อเข้ารับตำแหน่งแล้ว ติดบัญชีทรัพย์สินไว้ที่หน้า อบต.เลย ให้ชาวบ้านในพื้นที่รู้ และคนในพื้นที่จะนินทาเอาเองว่าจริงหรือไม่
หลังจากนี้คนในพื้นที่ต้องคอยจับตาการทำงานของ อบต.คนใหม่ ที่ต่างได้รับการฝากฝังว่าจะเข้ามาบริหารพื้นที่ให้ดีขึ้น ตามที่คนในพื้นที่คาดหวังไว้หรือไม่
ที่มา ไทยโพสต์